TH EN

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม


truegif

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คือ อะไร


กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund หรือ IFF) เป็นกองทุนรวมที่ระดมทุนจากประชาชน เพื่อลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็นประโยชน์สาธารณะในวงกว้างของประเทศไทย โดยกิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจึงสามารถช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณการลงทุนและการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐตลอดจนเป็นทางเลือกในการระดมทุนของภาคเอกชนในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน 12 ประเภทได้ดังต่อไปนี้

  1. ระบบขนส่งทางราง หรือทางท่อ
  2. ไฟฟ้า
  3. ประปา
  4. ถนน ทางพิเศษ หรือทางสัมปทาน
  5. ท่าอากาศยานหรือสนามบิน
  6. ท่าเรือน้ำลึก
  7. โทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
  8. พลังงานทางเลือก
  9. ระบบบริหารจัดการน้ำ หรือการชลประทาน
  10. ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยและระบบจัดการเพื่อลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นด้วย
  11. ระบบจัดการของเสีย
  12. กิจการที่มีลักษณะเป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานตาม 1. ถึง 11. หลายกิจการ (Multi-Infrastructure) ประกอบกัน โดยกิจการที่ประกอบกันเหล่านั้นเข้าลักษณะที่ครบถ้วนดังนี้
    • มีความเชื่อมโยง ส่งเสริม หรือก่อให้เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกันหรือต่อชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
    • ก่อให้เกิดหรือจะก่อให้เกิดรายได้เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้รวมของกิจการทั้งหมดที่ประกอบกันนั้น

ประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป

1. ลดภาระการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งใช้เวลายาวนาน 1. เข้าถึงการบริโภคโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีคุณภาพดีขึ้น
2. ลดภาระการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีมูลค่าลงทุนค่อนข้างสูง และลดการก่อหนี้สาธารณะของประเทศ 2. เพิ่มทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจให้แก่นักลงทุน
3. ช่วยลดปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน เนื่องจากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมนั้น สามารถนำออกให้ผู้ประกอบการรายอื่นเช่าใช้ร่วมกันได้ 3. ในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุน จะได้ประโยชน์จากผลตอบแทนจากการลงทุน หากเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลเป็นเวลา 10 ปี นับจากปีภาษีที่มีการจัดตั้งกองทุน ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
โทรคมนาคม คือ อะไร

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเป็นหลัก โดยทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่กองทุนสามารถลงทุนได้ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

  1. 1

    ทรัพย์สินประเภท Passive ได้แก่ เสาโทรคมนาคม สายใยแก้วนำแสง เป็นต้น

  2. 2

    ทรัพย์สินประเภท Active ได้แก่ อุปกรณ์สื่อสัญญาณและอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณที่แขวนบนเสาโทรคมนาคม ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จำเป็นสำหรับการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมทั่วไป เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ แทบเล็ต เป็นต้น

ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้สามารถรองรับการใช้งานโทรคมนาคมโดยทั่วไป เช่น การรับและส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ว่าจะเป็นทางเสียงหรือข้อมูลผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่และแทบเล็ต เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศจะมีการวางโครงข่ายโทรคมนาคมของตัวเอง ทั้งเสา สายไฟ
เบอร์ออพติก อุปกรณ์รับและส่งสัญญาณ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ประกอบการสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเหล่านี้ร่วมกันได้ อาทิ เสาหนึ่งต้นสามารถรองรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ถึง 4-8 ราย

การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม จึงเปรียบเสมือนกับการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหม่ๆ สามารถพัฒนาเครือข่ายเพื่อให้บริการโทรคมนาคมต่อผู้บริโภคได้ แม้จะไม่มีเสาหรืออุปกรณ์โครงข่ายเป็นของตัวเอง ลดการลงทุนซ้ำซ้อนและยังช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดังกล่าว จะได้รับผลตอบแทนอันเกิดจากรายได้จากการให้ผู้ประกอบการเช่าทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไป หรือจากการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบอื่นที่กฎหมายหลักทรัพย์อนุญาตให้ทำได้

การใช้โครงสร้างพื้นฐานทางด้าน
โทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing)

Infrastructure Sharing คือ การใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเสาโทรคมนาคม (Tower) อุปกรณ์รับและส่งสัญญาณ (Antenna System) ระบบสื่อสัญญาณ (transmission) สถานที่ติดตั้งอุปกรณ์สถานีฐาน (Site) รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น แหล่งจ่ายไฟ ระบบปรับอากาศ เป็นต้น

ทำไมจึงต้องมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน

  • อุปกรณ์พื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม มีความสำคัญต่อระบบการสื่อสารและใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างและติดตั้งค่อนข้างนาน อีกทั้งมีการดำเนินงานค่อนข้างยุ่งยากไม่สะดวก
  • ปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการมีการลงทุนซ้ำซ้อนกันอยู่ ถ้าจะให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกก็จะเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อนและเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้เกิดการเสียเปรียบทางการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ ส่งผลให้แนวโน้มในการเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาดยากมากขึ้น

ประโยชน์ที่ได้จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน

  • ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน
  • ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการใหม่
  • ผู้ประกอบการใหม่มองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น
  • ผู้ประกอบการมีเงินเหลือจากการลงทุน ซึ่งสามารถนำเงินนั้นมาจัดสรรเพื่อพัฒนาการให้บริการเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างการใช้ทรัพยากรพื้นฐานร่วมกันในประเทศต่างๆ

ประเทศสเปนและสหราชอาณาจักร

  • ในยุโรปส่วนใหญ่มีการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างต่อเนื่องและเนื่องจากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องชำระค่าใบอนุญาต 3G เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการพิจารณาว่าจะใช้ทรัพยากรพื้นฐานร่วมกันในการให้บริการ 3G
  • ตัวอย่างเช่น ข้อตกลงระหว่างบริษัท Orange และ Vodafone ในประเทศสเปนและสหราชอาณาจักร ช่วยลดต้นทุนลงได้มากถึง 30% ในสหราชอาณาจักรลดจำนวนสถานีฐานลงไปได้ประมาณ 40% ในสเปน แต่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ประเทศแคนาดา

  • รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2 GHz ไว้ว่าจะสำรองคลื่นความถี่ไว้ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ และจะต้องมีการกำหนดให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งรวมถึงสายอากาศ (Antenna) เสาโทรคมนาคม และ Infrastructure Sites และต้องมีการให้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่

ประเทศมาเลเซีย

  • The Malaysian Communications and Multimedia Commission (MCMC) มีการกำหนดให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เป็นกฏเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G
  • ผู้ประกอบการจะต้องแสดงให้เห็นว่า สามารถมีส่วนร่วมในการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น เสา หรือสถานีฐาน และความจุของเครือข่าย (Network Capacity) เป็นต้น

*ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ